เกี่ยวกับโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ

วีดีทัศน์ประวัติโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ

 
ข้อมูลและที่ตั้งสถาบัน

โรงเรียนดุริยางค์ กองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ (รร.ดย.ดย.ทร.ฐท.กท.)
ตั้งอยู่บริเวณฐานทัพเรือกรุงเทพ  ถ.อิสรภาพ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กทม. ๑๐๗๐๐
โทรศัพท์ติดต่อ ๐ ๒๔๗๕ ๓๐๕๔ โทรสาร (Fax) ๐ ๒๔๗๕ ๓๐๕๔
เว็บไซต์ของสถาบัน http://www. navy.mi.th/musicdiv  และมีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๑ งาน ๓๖ ตารางวา โดยมีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ        : จรด ฐท.กท.
ทิศตะวันออก : จรด ขส.ทร.
ทิศใต้            : จรด คลองมอญ
ทิศตะวันตก   : จรด ถนนอิสรภาพ

ประวัติสถาบัน

         โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ
มีประวัติความเป็นมาคู่กับ กองดุริยางค์ทหารเรือ กล่าวคือ หน่วยดุริยางค์ทหารเรือ มีมาตั้งแต่
พ.ศ.๒๔๒๑ โดยที่หน่วยดุริยางค์ทหารเรือในสมัยนั้น มีไว้บรรเลงในงานเกียรติยศ และสำหรับเรือพระที่นั่งในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทางทะเลและต่างประเทศ ซึ่งตามบันทึกทางเอกสาร เดิมเรียกว่า “ทหารแตรมะรีน” ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๘ จอมพลเรือเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ได้ทรงปรับปรุงหน่วยดุริยางค์ทหารเรือให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทรงให้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองแตร” ขึ้นกับกรมทหารเรือฝ่ายบก และ ทรงกำหนดหลักสูตรการศึกษาวิชาการดนตรีขึ้น เรียกว่า “วิชาการแตร” ดังที่ปรากฏอยู่ในข้อบังคับระเบียบวิชาการต่างๆ ในกรมทหารเรือ ลง ๒๗ มิ.ย.๒๔๙๙ โดยรับบุคคลเข้ามาทำการฝึกหัดและบรรจุเป็นนักดนตรีทหารเรือ เพื่อเสริมวงดนตรีให้ใหญ่ขึ้น และทดแทนคนเก่าที่พ้นหน้าที่ไปตามกาลเวลา ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๐๐ ทร. จึงได้กำหนดให้มีโรงเรียนดุริยางค์ขึ้น จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๒ เรือเอก สำเร็จ นิยมเดช(ยศขณะนั้น) นายทหารประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนดุริยางค์  จึงได้ทำการจัดวางระเบียบหลักสูตรการศึกษาขึ้น 
มีการแบ่งการศึกษาออกเป็นชั้น และดำเนินการฝึกหัดศึกษาในระบบโรงเรียนโดยแท้จริง หลักสูตรสำหรับการฝึกหัดศึกษาของนักเรียนดุริยางค์ และได้รับสมัครบุคคลพลเรือนเข้ามาเป็นนักเรียนดุริยางค์โดยตรง ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๐๔ เป็นต้นมา โดยในช่วงปีแรก ๆ
รับเฉพาะนักเรียนดุริยางค์ชาย พ.ศ.๒๕๑๐ จึงได้เริ่มมีการรับนักเรียนดุริยางค์หญิง ต่อมา โรงเรียนดุริยางค์ได้รับการกำหนดและอนุมัติอัตราให้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองดุริยางค์ทหารเรือ สถานีทหารเรือกรุงเทพ

สัญลักษณ์สถาบัน
        
เป็นรูปสมอ พิณ ภายใต้มหามงกุฎ เบื้องล่างมีแถบปลายแฉกสะบัดขึ้นทั้งสองข้าง กลางแถบมีคำว่า “โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ”
(ไม่จำกัดสีและขนาด)


นโยบาย วัตถุประสงค์ ภารกิจ พันธกิจ

นโยบาย
     - ให้การศึกษา พัฒนาคุณภาพ และศักยภาพ นดย. อย่างมีระบบและมีแบบแผน
     - ปกครองและดูแล นดย. ด้วยความเป็น “ครู” และมีเมตตาธรรม
     - ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เสริมสร้างจิตสาธารณะ และเน้นย้ำความเป็นทหารเรือ

วัตถุประสงค์
     - เพื่อให้การศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพด้านการดุริยางค์ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาวิชาการดุริยางค์ ประเภทวิชาศิลปกรรม แก่ นดย.
     - เพื่อผลิตนายทหารชั้นประทวนให้มีความรู้ และความสามารถในวิชาชีพการดุริยางค์ตามมาตรฐานวิชาชีพการดุริยางค์ และมีความรู้ในขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ รวมทั้งตรงกับความต้องการของ ทร.
     - เพื่อให้ นดย. มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีระเบียบวินัย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ภารกิจ
       ดำเนินการให้การศึกษา และฝึกอบรม นดย. ให้มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพการดุริยางค์ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ตลอดจนให้การศึกษา และอบรมทหารเหล่าดุริยางค์ และทหารเหล่าสัญญาณแตรเดี่ยว

พันธกิจ
     - ให้การศึกษาแก่ นดย. และทหารเหล่าดุริยางค์ เพื่อเป็นนักดนตรีทหารเรือที่มีคุณภาพ
     - พัฒนาหลักสูตรและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ
     - ดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
     - สนับสนุนการดนตรีตามที่ได้รับมอบหมาย
     - ปลูกฝังความเป็นทหาร คุณธรรม จริยธรรม และศิลปวัฒนธรรมของชาติ

ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ ค่านิยม และอัตลักษณ์ของถาบัน

ปรัชญา
     เก่งดนตรี มีวินัย ใฝ่ความรู้ คู่คุณธรรม เป็นพลังแห่งราชนาวี

ปณิธาน
        ให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่ นดย. เพื่อให้เป็นทหารที่มีความรู้ความสามารถในวิชา การดนตรี มีความคิดริเริ่ม มีระเบียบวินัย รักสถาบัน เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม สำหรับปฏิบัติราชการใน ทร. รวมทั้งมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

วิสัยทัศน์  
     เป็นสถาบันผลิตนักดนตรีทหารเรือ ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล

ค่านิยมร่วมของสถาบัน คือ MUSICIAN โดยแต่ละตัวอักษรมีความหมาย ดังนี้
    M   หมายถึง    Musicianship    ความเป็นนักดนตรี
    U    หมายถึง    Universal         ความเป็นสากล
    S    หมายถึง    Seniority           เคารพครูและอาวุโส
    I     หมายถึง    Integrity           ความซื่อสัตย์ ไว้ใจได้
    C    หมายถึง    Courage             ความกล้าหาญ
    I     หมายถึง    Initiative           ความริเริ่ม สร้างสรรค์
   A    หมายถึง    Altruism            ความเสียสละ
   N    หมายถึง    Navy                  ความเป็นทหารเรือ

อัตลักษณ์ของสถาบัน
     นักดนตรีทหารเรือที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล

โครงสร้างและการจัดส่วนราชการ

แบ่งส่วนราชการเป็น ๕ หมวด  ดังนี้
ธุรการ  มีหน้าที่เกี่ยวกับการธุรการ การสารบรรณ และการบัญชีพลโดยทั่วไปของ รร.ดย.ฯ

หมวดปกครอง  มีหน้าที่กำหนดแนวทางปฏิบัติ ดำเนินการ และควบคุมการปกครองบังคับบัญชานักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รร.ดย.ฯ ให้ประพฤติปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางโรงเรียน รวมทั้งดูแลด้านการสวัสดิการของ นดย.

หมวดศึกษา มีหน้าที่กำหนดแนวทางปฏิบัติ จัดทำแผนการศึกษา ดำเนินการและควบคุมการศึกษาอบรมนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รร.ดย.ฯ รวมทั้งเสนอความต้องการครูช่วยสอน  และกำหนดหลักเกณฑ์ในการวัดผล/ประเมินผลการศึกษา

หมวดเครื่องช่วยการศึกษา มีหน้าที่รับผิดชอบให้การสนับสนุนเครื่องดนตรี และอุปกรณ์เครื่องช่วยการศึกษาแก่หลักสูตรต่าง ๆ ของ รร.ดย.ฯ ตามที่ได้รับการร้องขอ ตลอดจนควบคุม การจัดพิมพ์ตำราและแบบฝึกหัดที่เป็นโน้ตเพลงสำหรับใช้ใน รร.ดย.ฯ

ประกันคุณภาพการศึกษา มีหน้าที่จัดทำรายงานประเมินตนเอง ส่งถึง ยศ.ทร. สปท. และ สมศ. รวบรวม/จัดเก็บสำเนาเอกสารการดำเนินการของ รร.ดย.ฯ เพื่อรองรับการเข้าตรวจประเมินคุณภาพภายในจาก ยศ.ทร. และ สปท. การเข้าตรวจประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. ให้ความรู้  การประกันคุณภาพการศึกษาแก่ครู/อาจารย์ และบุคลากรของ รร.ดย.ฯ

รายชื่อคณะกรรมการสถานศึกษา

-   ผบ.ฐท.กท.                                                    ประธานกรรมการ
-   รอง ผบ.ฐท.กท. (๑)                                      รองประธานกรรมการ (๑)
-   ผบ.ดย.ทร.ฐท.กท.                                        กรรมการและเลขานุการ
-   รอง ผบ.ดย.ทร.ฐท.กท.                                  กรรมการ
-   รอง ผอ.รร.ดย.ดย.ทร.ฐท.กท.                       กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
-   ผู้แทน ยศ.ทร.                                                 กรรมการ
-   ผู้แทน กพ.ทร.                                                 กรรมการ
-   หน.กำลังพล บก.ฐท.กท.                                กรรมการ
-   นคป.บก.ฐท.กท.                                             กรรมการ
-   หน.วิชาการ ดย.ทร.ฐท.กท.                             กรรมการ
-   หน.ดนตรี ดย.ทร.ฐท.กท.                                 กรรมการ
-  ประจำ รร.ดย.ดย.ทร.ฐท.กท.                            กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
-   หน.ครูดนตรี รร.ดย.ดย.ทร.ฐท.กท.                  กรรมการ
-   หน.ครูปกครอง รร.ดย.ดย.ทร.ฐท.กท.              กรรมการ

หลักสูตรการศึกษา

       โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ มีการเปลี่ยนแปลง/แก้ไขการดำเนินการในด้านการศึกษา ให้สอดคล้องกับระเบียบยศ.ทร. ว่าด้วยการดำเนินการศึกษาของโรงเรียนชุมพลทหารเรือ และโรงเรียนซึ่งจัดการศึกษาเป็นภาค  ในส่วนการศึกษาที่สาม พ.ศ.๒๕๒๑ โดยปรับปรุงการศึกษาจากหลักสูตรเดิม ที่มีการคิดคะแนนในระบบร้อยละมาเป็นระบบหน่วยกิต ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ มีการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตลอดหลักสูตร ๕ ปี รวม ๓๐๐ หน่วยกิต

       ต่อมา ทร. ได้อนุมัติให้ รร.ดย.ฯ ปรับหลักสูตรการศึกษาของ นดย.ฯ จากหลักสูตรเดิม ๕ ปี    เป็นหลักสูตร ๖ ปี ตามหลักสูตรฉบับปรับปรุงใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาได้รับการเทียบวุฒิการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และได้รับการแต่งตั้งยศจ่าตรี  โดยเริ่มใช้กับ นดย.ชั้นปีที่ ๑ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๔ เป็นต้นมา ซึ่งหลักสูตรนี้ทาง รร.ดย.ฯ ได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรเป็น ๒ ระดับ คือ หลักสูตรการดุริยางค์ตอนต้น ใช้จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปีที่ ๑ - ๓ และหลักสูตรการดุริยางค์ตอนปลาย ใช้จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปีที่ ๔ - ๖
  • หลักสูตรการดุริยางค์ตอนต้น กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้เทียบความรู้ เท่ากับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.๑ - ม.๓) ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช ๒๕๒๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๓๓) เมื่อ ๓๐ เม.ย.๓๔ และได้รับความเห็นชอบจาก ยศ.ทร. เมื่อ ๑๙ ต.ค.๓๔
  • หลักสูตรการดุริยางค์ตอนปลาย กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้เทียบความรู้ เท่ากับวุฒิประกาศนียบัตร ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช ๒๕๓๐
  • หลักสูตรฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๓  ประเภทวิชาศิลปหัตถกรรม สาขาวิชาการดนตรี เฉพาะกลุ่มวิชาชีพดนตรีและขับร้องเพลงสากล เมื่อ ๒๐ ต.ค.๓๕
  • หลักสูตรการดุริยางค์ตอนต้นปี ๒๕๕๐ (ฉบับปรับปรุง) ยศ.ทร. เห็นชอบตามบันทึกยศ.ทร.ที่ กห. ๐๕๓๔/๑๐๐ ลง ๑๕ ม.ค.๕๑ เรื่อง เห็นชอบหลักสูตรการดุริยางค์ตอนต้น
  • หลักสูตรการดุริยางค์ตอนปลายปี ๒๕๕๒ (ฉบับปรับปรุง) ยศ.ทร. เห็นชอบตามบันทึกยศ.ทร. ที่ กห. ๐๕๓๔/๒๐๐๑ ลง ๒๔ ก.ย.๕๒ เรื่อง เห็นชอบหลักสูตรการดุริยางค์ตอนปลาย
  • หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช ๒๕๕๖ ประเภทวิชาศิลปกรรม สาขาวิชาการดุริยางค์ ตามความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เมื่อ ๓ ก.พ.๕๗
คุณสมบัติผู้เข้ารับการศึกษา

       บุคคลที่จะสมัครเข้าศึกษาใน รร.ดย.ฯ จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยโรงเรียนทหารและระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๐ ดังนี้ (หลักสูตร ๓ ปี) ดังนี้
      - เป็น ชาย , หญิง โสด อายุ ๑๕ – ๑๘ ปี โดยนับ ปี พ.ศ. ที่เกิด (เกิดระหว่าง ๑ ม.ค. – ๓๑ ธ.ค.)
      - มีสัญชาติไทย บิดา มารดา ผู้ให้กำเนิดต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
      - สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ หรือเทียบเท่า
      - มีอวัยวะ รูปร่าง ลักษณะท่าทางเหมาะสมแก่การเป็นทหารและนักดนตรี ปราศจากโรคหรือความผิดปกติที่ ทร. กำหนด

สิทธิของผู้สำเร็จการศึกษา
      
         เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการแต่งตั้งยศเป็นจ่าตรี พรรคพิเศษ เหล่าทหารดุริยางค์ โดยได้รับเงินเดือน ระดับ ป.๑ ชั้น ๑๖.๕ (๙,๗๑๐ บาท) และได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประเภทวิชาศิลปหัตถกรรม สาขาวิชาการดนตรี รวมทั้งได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษาบุตร ฯลฯ

คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้สำเร็จการศึกษา

ด้านวิชาการหรือวิชาชีพ
       - เป็นผู้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถในทางวิชาการหรือวิชาชีพ ตามมาตรฐานที่กำหนด
       - เป็นผู้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ใฝ่เรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข และสามารถพัฒนาอาชีพให้ก้าวหน้า

ด้านการทหาร
       - เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามารถเสียสละชีวิต เพื่อประเทศชาติ และราชบัลลังก์ รวมทั้งดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
       - เป็นผู้มีความรู้พื้นฐานวิชาการทางทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์
       - เป็นผู้มีวินัยทหาร และปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมทหาร
       - เป็นผู้มีภาวะผู้นำ (ในระดับหมู่) ซื่อสัตย์ สุจริต กล้าหาญ เสียสละ รับผิดชอบ มีจิตสำนึกในความเป็นทหาร และรู้รักสามัคคี
       - เป็นผู้มีความแข็งแรง อดทน และความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ